นักวิจัยเปิดเผยว่า กล้วยอาจใช้เป็นอาหารทดแทนมันฝรั่งในบางประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะที่มันสำปะหลังและถั่วฝักยาวจะเริ่มมีบทบาทสำคัญในการทำการเกษตรมากขึ้น หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น และผู้คนจะเริ่มดัดแปลงเมนูอาหารใหม่ๆและหลากหลาย ขณะที่พืชพื้นเมืองเริ่มร่อยหรอลง
องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และวิกฤติโลกร้อน ที่จะส่งผลต่อวิกฤติอาหารขาดแคลนในอนาคต ผลวิจัยชี้ว่า "กล้วย" อาจกลายเป็นอาหารหลักของมนุษย์
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้จัดทำรายงานต่อคณะกรรมการความมั่นคงทางอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติโดยมุ่งศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีความสำคัญที่สุด 22 ประเภท
รายงานระบุว่า พืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ 3 ลำดับแรกในแง่ของพลังงานที่ได้รับ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลี จะลดลงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่มันฝรั่งที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่า จะได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพอากาศเลวร้ายลง
ผู้จัดทำระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะนำไปสู่การเพาะปลูกพืชประเภทกล้วยในเขตพื้นที่สูง ซึ่งเดิมเป็นพื๙ที่เติบโตได้ดีในเขตร้อน แม้กระทั่งพื้นที่ที่เคยใช้เพาะปลูกมันฝรั่งในปัจจุบัน
เนื่องจากกล้วย เป็นพืชที่สามารถให้พลังงานได้ดีเช่นเดียวกัน ข้าว หรือมันฝรั่ง ส่วนประเทศในแถบแอฟริกา ประชาชนอาจต้องหันมาบริโภคมันสำปะหลังแทนข้าว เพราะมันสำปะหลัง คือพืชอีกชนิดที่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ส่วนข้าวสาลี ซึ่งเป็นพืชที่มีความสำคัญที่สุดในแง่การเป็นแหล่งโปรตีนและพลังงาน จะต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในอนาคตในประเทศกำลังพัฒนา ที่ราคาฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง จะผลักให้ข้าวสาลีต้องกลายเป็นพืชที่ไม่มีความสำคัญ
ส่วนถั่วเหลืองนั้น แม้จะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ แค่ก็เป็นพืชที่มีความอ่อนไหวง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นพืชที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งและเติบโตได้ดีแม้ในสภาพอากาศที่เย็นกว่าปกติ ถือเป็นทางเลือกที่ดี และสามารถทดแทนถั่วเหลืองได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายกังวล ก็คือ การปรับตัวของประชาชน ต่ออาหารหลัก โดยมีการตั้งคำถามว่า ประชาชนจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง บอกว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารหลักที่รับประทานในแต่ละวันนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างประเทศในแถบแอฟริกาเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ไม่มีข้าวกิน เพราะหายากและราคาแพง แต่หลังจากมีการนำข้าวไปปลูก หรือนำเข้าข้าวมากขึ้น ผู้คนก็สามารถปรับตัวได้เอง
ขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์